ความโดดเด่นของจังหวัดอุทัยธานี หากไม่นับรวมสถานที่ ก็น่าจะเป็น ปลาแรดในลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่มีความโดดเด่นขีดสุด ที่เมื่อเอ่ยถึงปลาแรด ก็เข้าใจได้ทันทีว่า เป็นของดีจังหวัดอุทัยธานี แต่ถ้าเอ่ยถึง “ไก่แสมดำ” อาจต้องหยุดคิดก่อนจะเอ่ยถามว่า เป็นไก่ชนิดใด มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดอุทัยธานีได้อย่างไร แท้จริงแล้ว ไก่แสมดำ เป็นไก่สายพันธุ์เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดไก่แสมดำมาก จนได้ชื่อว่า “ไก่พ่อขุน” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือก็ทรงโปรดเช่นกัน ซึ่งก็เป็นหลักฐานว่า ไก่แสมดำมีมาแต่โบราณกาลนั้น มีถิ่นกำเนิดทางภาคกลาง ตั้งแต่ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง และปัจจุบัน ไก่แสมดำกลายเป็นไก่ที่จังหวัดอุทัยธานีเห็นคุณค่า เริ่มนำกลับมาอนุรักษ์สายพันธุ์ และมีเกษตรกรที่สนใจ นำมาเลี้ยง เพาะจำหน่ายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
แต่ก่อนจะถึงเรื่องของการเพาะขยายพันธุ์ เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัด และเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ ก็น่าจะต้องอธิบายเรื่องไก่แสมดำ อย่างต่อเนื่องเสียก่อน
ไก่แสมดำเป็น 1 ใน 4 เฉดสีใหญ่ๆ ของไก่พันธุ์ประดู่หางดำ อันได้แก่
- ประดู่มะขามไหม้ ตาไพล
- ประดู่แสมดำ ตาดำ
- ประดู่แข้งเขียว ตาลาย
- ประดู่แดง
และนี่ก็คือ ประดู่แสมดำ ตาดำ ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า ไก่แสมดำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่เหลือน้อยลง จนใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งลักษณะเด่นของประดู่แสมดำ หรือไก่แสมดำ คือ ปาก แข้ง เล็บ ขนปีก หาง มีสีดำสนิท ยกเว้นสร้อยปีก สร้อยคอ สร้อยหลัง และสร้อยระย้า จะเป็นสีประดู่ดำหรือมะขามไหม้ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ เมื่อยืนแล้วดูสง่างามน่าเกรงขาม และด้วยคุณค่าของพันธุกรรมไก่ชนที่ดีเด่นมีความอดทนเป็นเลิศ